ซุส คอฟฟี่: จุดเปลี่ยนทางการตลาดในวงการกาแฟมาเลเซีย
‘ชื่อร้าน’ และ ‘โลโก้แบรนด์’ ของซุส คอฟฟี่ จุดประเด็นดราม่าร้อนแรงสุด ๆ ในธุรกิจร้านกาแฟมาเลเซีย นำไปสู่คำถามว่าใช่แบรนด์ท้องถิ่นหรือไม่
ร้านกาแฟยุคใหม่ ๆ ในมาเลเซียที่ป็อปปูล่าร์มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน ชื่อของ ‘ซุส คอฟฟี่’ (Zus Coffee) มักพบเห็นได้ไม่ยากนักในย่านธุรกิจตามเมืองใหญ่ ๆ ของมาเลเซีย ทว่าถนนสายกาแฟของซุส คอฟฟี่ ไม่ได้สวยงามเหมือนรายอื่น ๆ มักตกเป็นข่าวดราม่าตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโซเชียลออนไลย์อยู่เนื่อง ๆ ทั้งประเด็น ‘โลโก้แบรนด์’, ‘ชื่อร้าน’ และกับคำถามต่อเนื่องที่ว่าใช่ ‘แบรนด์มาเลเซีย’ หรือไม่
ที่มาของชื่อและโลโก้แบรนด์แห่งซุส คอฟฟี่ สร้างกระแส ‘ดราม่า’ อันร้อนแรงสุด ๆ ในช่วงปลายปีที่แล้ว เพราะเกิดมีการมองกันว่าภาพใบหน้าชายหนวดเครารุงรังสีขาวที่อยู่ในวงกลมสีน้ำเงินนั้น คือภาพของเทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุดตามตำนานเทพปกรณัมกรีก ผู้มีชื่อว่า ‘ซุส’ (Zeus) ราชาแห่งทวยเทพ ผู้ปกครองเขาโอลิมปัส เป็นเทพแห่งท้องฟ้าและสายฟ้า นอกจากนั้นแล้ว ชื่อแบรนด์ก็คล้ายกับชื่อเทพเจ้ากรีกเป็นยิ่งนัก
สื่อสิงคโปร์สำนักหนึ่งรายงานว่า ได้เกิดกระแสความพยายามบอยค็อตซุส คอฟฟี่ ขึ้นในมาเลเซีย เนื่องจากมีการใช้โลโก้แบรนด์เป็นรูปเทพเจ้าจากศาสนาอื่น
ดราม่าโลโก้แบรนด์เคสนี้ จัดว่าเป็นข่าวใหญ่ในแวงวงสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์แดนเสือเหลือง มีการเปิดแคมเปญตามสื่อโซเชียลเพื่อ ‘บอยค็อต’ ซุส คอฟฟี่ บางเพจตั้งคำถามว่าชาวมุสลิมควรสนับสนุนสินค้าจากร้านนี้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็เกิดการดีเบตหรือวิวาทะกันอย่างดุเดือดระหว่างฝ่ายที่ต้องการบอยค็อตกับฝ่ายที่มองว่าการบอยค็อตนั้นไม่สมเหตุสมผล
เจอบิ๊กดราม่าลูกใหญ่เข้า ผู้บริหารซุส คอฟฟี่ ก็ต้องออกโรงชี้แจง ออกมาเคลียร์ปมโลโก้แบรนด์ โดยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับหนึ่งในมาเลเซีย ว่า ‘ชื่อแบรนด์’ นั้น มาจากการประสมคำ 2 คำ ระหว่าง zeal กับ us หมายถึง passionate + us เป็นเป้าหมายที่แบรนด์พยายามทำให้สำเร็จคือการแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า Zus Coffee มีความ ‘หลงใหล’ ในการแสวงหากาแฟชั้นเลิศ พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทให้การสนับสนุนเทพเจ้ากรีก
ส่วน ‘โลโกแบรนด์’ นั้น ผู้บริหารยืนยันไม่ใช่ภาพใบหน้าเทพเจ้ากรีก แต่ได้แรงบันดาลใจจากภาพของ ‘คาลดี้’ (Kaldi) คนเลี้ยงแพะชาวพื้นเมืองเอธิโอเปียในตำนาน เชื่อกันว่าเป็นผู้ค้นพบต้นกาแฟเป็นครั้งแรกเมื่อปีค ศ 850 ก่อนที่เครื่องดื่มกาแฟจะเข้าสู่โลกมุสลิม และกระจายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
ผู้บริหารรายนี้ยังบอกว่า ซุส คอฟฟี่ ได้รับใบรับรองอาหารฮาลาลแล้ว ดังนั้น ผู้บริโภคชาวมุสลิมจึงสามารถซื้อเครื่องดื่มของบริษัทได้โดยไม่ต้องกังวล
พอคำสัมภาษณ์ปรากฎเป็นข่าวปุ๊บ ชาวโซเชียลก็รีบคว้าปั๊บ หยิบเอาภาพเทพเจ้าซุสกับภาพวาดคาลดี้ในจินตนาการ มาเปรียบเทียบกันทันทีว่าเหมือนหรือต่างกันตรงไหน รวมไปถึงมีคน (ที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นชาวมาเลเซีย) เข้าไปตั้งประเด็นในคอมมูนิตี้เว็บบอร์ดสัญชาติอเมริกันอย่าง ‘เรดดิต’ (Reddit) อีกด้วย เรียกว่าเป็นดราม่าที่ได้รับความสนใจมากทีเดียว
ปมดราม่านี้ไปไกลเกินกว่าที่คิด เมื่อสมาชิกรัฐสภามาเลเซียคนหนึ่ง ปราศรัยชักชวนให้สนับสนุนแบรนด์สินค้าท้องถิ่นมาเลเซีย
นักข่าวก็หยิบเอาเรื่องนี้ไปถามผู้บริหารซุส คอฟฟี่ว่า แบรนด์ท้องถิ่นนี้หมายรวมถึงแบรนด์กาแฟของคุณด้วยหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็ประมาณว่า ตราบเท่าที่แบรนด์นั้น ๆ เป็นของมาเลเซีย ก็ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเช่นกัน
อ่านต่อ: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/food/1113509